โควิดระลอกใหม่จะหมายถึงอะไรได้บ้าง?

จำนวนผู้ป่วยโควิดรายใหม่ได้เพิ่มสูงขึ้นทำให้ทางการต้องออกมาตรการควบคุม


สารบัญข่าว

จำนวนผู้ป่วยโควิดรายใหม่ได้เพิ่มสูงขึ้นทำให้ทางการต้องออกมาตรการควบคุม

อย่างที่ทราบกันดีว่าจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ในประเทศไทยได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากที่ได้สงบมาหลายเดือน ทำลายสถิติในวันเดียวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา และทำให้ทางการต้องออกมาตรการควบคุมอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะในจังหวัดสมุทรสาคร

เมื่อวานนี้มีรายงานการติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับตลาดอาหารทะเลทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเทพฯใน 31 จังหวัด โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษกับจังหวัดในบริเวณใกล้เคียงและบางพื้นที่ของเมืองหลวง จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศแบ่งออกเป็น 4 ระดับตามสี แต่จนถึงขณะนี้การล็อคดาวน์โดยสมบูรณ์มีผลเฉพาะในเขต "สีแดง" ที่เดียวคือจังหวัดสมุทรสาครเท่านั้น

หากการแพร่ระบาดได้กระจายออกไปอีกและทางการบังคับให้ออกมาตรการล็อคดาวน์อย่างเข้มงวดเช่นเดียวกับที่เราเคยประสบมาในเดือนเมษายนจะมีผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย?

SCBS ได้ศึกษาประสบการณ์ของประเทศอื่น ๆ ที่ได้เผชิญกับความท้าทายในลักษณะเดียวกัน เพื่อทำความเข้าใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หากไม่รวมการระบาดในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ในประเทศจีน อาจกล่าวได้ว่ามีการระบาดถึง 3 รอบในประเทศใหญ่ ๆ ทั่วโลก

การระบาดระลอกแรกเกิดขึ้นในสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน (ยกเว้นในบางประเทศเช่นเกาหลีใต้ที่การระยาดเริ่มบานปลายในเดือนมีนาคม)

โดยทั่วไปจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในช่วง 7 วันแรกของเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 50-70% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดก่อนหน้านั้น จึงนำไปสู่การล็อคดาวน์อย่างเข้มงวดในประเทศเหล่านั้น

รอบที่สองเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม โดยเป็นผลมาจากการกลับมาเปิดกว้างอีกครั้งของเศรษฐกิจหลากหลายประเทศในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนหลังจากที่ระลอกแรกผ่านพ้นไป โดยทั่วไปอัตราส่วนของผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันอยู่ที่ระดับต่ำมากโดยอยู่ที่ 10-20% อย่างไรก็ตามประเทศไทยไม่ได้ประสบปัญหาใด ๆ เนื่องจากการจัดการกับโควิดอย่างมีประสิทธิภาพ

ในเดือนนี้หลายประเทศกำลังประสบกับการระบาดระลอกที่สาม ซึ่งรุนแรงที่สุดเนื่องจากอุณหภูมิลดลงและผู้คนใช้เวลาอยู่ในบ้านมากขึ้น การระบาดในประเทศไทยในเดือนธันวาคมอาจเรียกได้ว่าเป็นระลอกที่สอง แม้ว่ารัฐบาลจะไม่นิยมใช้คำนี้ก็ตาม

ในรอบแรกการเว้นระยะห่างทางสังคมและการปิดเมืองส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก เนื่องจากประชาชนตลอดจนหน่วยงานของรัฐไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากถึงสองในสามของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด

รัฐบาลและธนาคารกลางตอบสนองต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่ยังต้องใช้เวลาเพื่อให้เงินดังกล่าวเดินทางผ่านระบบ

ตัวบ่งชี้ที่สำคัญ ๆ เช่นการค้าปลีกและการผลิตในภาคอุตสาหกรรม รวมถึง GDP ได้หดตัวอย่างรวดเร็วในเดือนเมษายน แต่ก็ได้เริ่มฟื้นตัวเมื่อไตรมาสที่สองใกล้เข้ามา

การเตรียมการที่ดีกว่า

เมื่อถึงเวลาเกิดการระบาดครั้งที่สองทางการมีมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรออยู่แล้ว ภาคเอกชนยังมีความคิดที่ดีขึ้นเกี่ยวกับวิธีการที่จะจำกัดความเสียหาย จึงเป็นผลให้อัตราการหดตัวของตัวบ่งชี้ทางเศรษฐกิจในรอบที่สองอยู่ที่ประมาณครึ่งหนึ่งของรอบแรกเท่านั้น ในสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ยอดค้าปลีกยังได้เติบโตขึ้นอีกด้วยเนื่องจากกำลังการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ได้รับแรงกระตุ้นสูง

มีความเป็นไปได้ว่าแม้ว่ารัฐบาลไทยจะต้องประกาศมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นหรือการล็อคดาวน์เพิ่มเติม แต่ก็สามารถประกาศมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจลงได้

หากมาตรการควบคุมมีความรุนแรง เศรษฐกิจไทยจะหดตัวในอัตราเดียวกับที่เราคาดการณ์ไว้ก่อนการระบาดครั้งใหม่คือประมาณ 8% ในไตรมาสที่สี่ และ 1% ในไตรมาสแรกของปี 2021 การหดตัวของเศรษฐกิจตลอดทั้งปีจะอยู่ที่ 7% ในปี 2020 โดยการฟื้นตัวจะอยู่ที่ 3% ในปี 2021

จากการที่ SCBS สังเกตในตลาดอื่น ๆ การลงทุนในตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงเล็กน้อยนอกเหนือจากปัจจัยวันหยุดสิ้นปี

ในสัปดาห์หลังจากการระบาดครั้งที่สองในญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา เราพบว่าตลาดหุ้นหดตัวลงเฉลี่ย 2.4% ในสัปดาห์แรกและค่อย ๆ ฟื้นตัวในสัปดาห์ต่อ ๆ มา

หนึ่งเดือนหลังจากการระบาดครั้งที่สอง ดัชนีที่สำคัญในประเทศเหล่านั้นได้กลับมาในระดับที่สูงกว่าจุดก่อนการระบาด นี่เป็นผลมาจากทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้ลดความรุนแรงของการระบาดลง

เราจึงสรุปได้ว่า แม้ว่าดัชนี SET จะมีแนวโน้มปรับตัวลงในสัปดาห์แรกหลังจากการระบาดครั้งใหม่ (ซึ่งเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ) แต่ในอนาคตอันใกล้ก็อาจจะปรับตัวสูงขึ้นมาได้ เนื่องจากโดยรวมแล้วความเชื่อมั่นการลงทุนในระยะสั้นทั่วโลกยังคงเป็นบวกอยู่

แม้จะมีการสะดุดในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์เรียกร้องให้จ่ายเงินจำนวนมากขึ้นให้กับบุคคลทั่วไป แต่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลกโดยรวมยังเป็นบวกในระดับปานกลาง

การกระจายวัคซีนที่รอคอยมานานออกจะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับนโยบายการเงินที่ยังคงดำเนินต่อไป และความคาดหวังของการริเริ่มใหม่ ๆ ในสหรัฐฯเมื่อ โจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนหน้า

กระสุนเพิ่มเติม

ในประเทศไทย แม้ว่ากรุงเทพฯจะต้องถูกล็อคดาวน์อีกครั้ง แต่กระทรวงการคลังได้กล่าวว่ายังมีกระสุนเหลืออยู่ในงบประมาณปี 2021 หากมีความจำเป็น

ในแง่ของภาคการบริการต่าง ๆ เช่นโรงแรม, กลุ่มค้าปลีก และสายการบินจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการปิดกั้นใด ๆ กลุ่มการขนส่งทางบก, ทางรถไฟ และกลุ่มธนาคารอาจได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง ในขณะที่ภาคส่วนต่าง ๆ เช่นวัสดุก่อสร้าง, อสังหาริมทรัพย์ และการสื่อสารอาจไม่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงนัก หากการล็อคดาวน์ไม่ถูกบังคับใช้นานเกินไป

ดังนั้นเราจะยังคงไว้ซึ่งมุมมองเช่นเดียวกับที่เราเคยมีมาในช่วงก่อนการระบาดครั้งใหม่ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการลงทุนทั้งทั่วโลกและในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในครึ่งแรกของปีหน้าเนื่องจากปัจจัยเชิงบวกต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปีมีความเป็นไปได้ว่าปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่นการเมืองในสหรัฐฯ, มาตรการการคลังของยุโรปที่ล่าช้า อาจสร้างแรงกดดันเช่นเดียวกับปัจจัยในประเทศ เช่น ค่าเงินบาทที่แข็งค่า และการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ลดลง

สรุปคือ โควิดระลอกที่สองจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะสั้นมากนัก แต่ในอนาคตข้างหน้านักลงทุนชาวไทยจะต้องจับตาดูปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ

อ้างอิง

บางกอกโพสต์

WRITER: Piyasak Manason

ความเห็นผู้ชมทั่วไป