โพลล์รอยเตอร์ระบุ: โคโรนาไวรัสเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ใหญ่หลวงกว่าข้อพิพาทการเลือกตั้ง

โคโรนาไวรัสเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ใหญ่กว่าข้อพิพาทการเลือกตั้ง


สารบัญข่าว

โคโรนาไวรัสเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ใหญ่กว่าข้อพิพาทการเลือกตั้ง

เบงกาลูรู (รอยเตอร์) — โคโรนาไวรัสเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ใหญ่หลวงกว่าข้อพิพาทเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเสียอีก อ้างอิงจากโพลล์ของรอยเตอร์ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้นกำลังชะลอตัวลงช้ากว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้เสียอีก

ด้วยจำนวนเคสโควิด-19ราว 11 ล้านเคส สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด และในขณะที่วัคซีนที่มีศักยภาพได้มอบทัศนคติในแง่ดี แต่ภาพรวมยังคงดูไม่แน่นอนนัก การสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์กว่า 100 คนในวันที่ 10 – 16 พ.ย.ระบุ

ความคืบหน้าล่าสุดของวัคซีนโควิด-19ได้ผลักดันให้หุ้นวอลล์สตรีทพุ่งทะยานแตะสถิติปิดตลาดครั้งใหม่ในสัปดาห์ที่แล้ว แม้ว่าจำนวนเคสผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นและมีความวิตกกังวลกับการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ปฏิเสธที่จะยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งต่อโจ ไบเดน

กว่า 90% ของนักเศรษฐศาสตร์ หรือ 53 จาก 57 คนกล่าวว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้กว่าความไม่แน่นอนว่าผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะออกมาเมื่อใด

เมื่อถูกถามว่าการคาดการณ์ของพวกเขามีพื้นฐานจากความคืบหน้าล่าสุดของวัคซีนโควิด-19หรือไม่ นักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 57 คนที่ได้ให้คำตอบเป็นรายบุคคลเกือบจะแบ่งเป็นสองฝ่ายอย่างเท่า ๆ กันเลยทีเดียว ชี้ให้เห็นว่ายาชูกำลังสำหรับทัศนคติของวอลล์สตรีทนั้นยังไม่ถูกมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ด้วยการที่ไม่มีแนวโน้มที่จะได้รับการสนับสนุนการใช้จ่ายครั้งใหม่อย่างรวดเร็วจากสภาคองเกรส เศรษฐกิจที่ซึ่งกำลังลอยเคว้งอยู่ในขณะนี้อาจจะอ่อนแอลงอีกครั้ง

“การสนับสนุนทางการคลังโดยทั่วไปได้แห้งเหือดไปแล้วในตอนนี้ และได้ทิ้งให้รายได้ที่จับจ่ายได้ตกต่ำลงไปอีกในช่วงสองสามเดือนสุดท้ายของปี แต่ความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดคือโคโรนาไวรัสระลอกที่ 3 มีแนวโน้มที่จะเลวร้ายลงอีกด้วยอุณหภูมิที่เย็นลง” เดวิด เมริเคิล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯจาก Goldman Sachs กล่าว
“มาตรการล็อคดาวน์ครั้งใหม่ในยุโรปเป็นการย้ำเตือนว่าสหรัฐฯจะได้เผชิญกับความเสี่ยงในด้านลบที่สำคัญ”

มันเหมือนเป็นอุบัติเหตุครั้งใหญ่สำหรับเศรษฐกิจในปีนี้ เป็นการจมดิ่งสู่ห้วงเหวแห่งภาวะหดตัวที่ลึกที่สุดในรอบอย่างน้อย 7 ทศวรรษ ที่ 31.4% ในไตรมาสที่ 2 ไปสู่การเติบโตที่รวดเร็วที่สุดที่คาดไว้ ที่ 33.1% ในไตรมาสที่ผ่านมา

มีการคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะเติบโต 3.7% เป็นรายปีในไตรมาสนี้ และ 3.0% ในไตรมาสแรก ลดลงจาด 4.0% และ 3.7% ตามลำดับที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนที่ที่แล้ว

นั่นเป็นการลดระดับลงรายเดือนติดต่อกันเป็นครั้งที่ 6 และ 3 ตามลำดับ

ระยะของการคาดการณ์ -5.6% ถึง +7.4% สำหรับไตรมาสนี้และไตรมาสหน้า เป็นการเน้นย้ำถึงความไม่แน่นอนอย่างมากแม้จะมีประวัติที่มั่นคงในเรื่องความแม่นยำของการสำรวจความคิดเห็นในปีนี้

“เราคาดว่าอุตสาหกรรมการผลิต, การก่อสร้าง และร้านค้าปลีกส่วนใหญ่จะยังคงเปิดทำการอยู่ แต่ข้อบังคับในภาคส่วนอื่น ๆ จะยังคงมีต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล โดยมีตำแหน่งงานนับล้านตำแหน่งที่อาจตกอยู่ในความเสี่ยง” เจมส์ ไนท์ลีย์ หัวหน้านักเศรษศาสตร์ระหว่างประเทศจาก ING กล่าว
“เราเกรงว่าช่วงเดือนธันวาคม-มกราคมจะมีความยากลำบากทั้งในระดับของมนุษย์และระดับเศรษฐกิจด้วย GDP ที่อาจเคลื่อนไหวในทางลบสำหรับไตรมาสแรก”

ในปีนี้มีการคาดว่าเศรษฐกิจที่ใหญ่โตที่สุดของโลกจะหดตัวลง 3.6% โดยอ้างอิงจากผลสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหมด 102 ราย ในส่วนของปี 2021 และ 2022 มีความเห็นพ้องกันว่าจะเป็นการเติบโต 3.8% และ 2.9% ตามลำดับ

ในระหว่างนี้ หลาย ๆ สิ่งจะขึ้นอยู่กับสาธารณสุขไปตลอดช่วงเดือนฤดูหนาวที่จะมาถึงนี้

ทั้งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เจอโรม พาเวลล์ และประธานธนาคารกลางยุโรป คริสติน ลาการ์ด กล่าวว่าเศรษฐกิจยังคงต้องเผชิญกับเวลาที่ยากลำบากแม้ว่าการพัฒนาวัคซีนที่มีแนวโน้มจะใช้ได้ผลจะเป็นเหตุให้เกิดทัศนคติในแง่ดีอยู่บ้างก็ตาม

เมื่อถูกถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์ทางการค้าสหรัฐฯ-จีนในปีต่อ ๆ ไปที่จะถึงนี้ นักเศรษฐศาสตร์ 38 รายจาก 56 รายกล่าวว่าจะยังคงเหมือนเดิม ขณะที่ 15 รายกล่าวว่าความสัมพันธ์จะดีขึ้น และ 3 รายกล่าวว่าจะย่ำแย่ลงไปอีก

“หนึ่งในสิ่งที่ไม่อาจทราบแน่ชัดได้ประการหลัก ๆ ของฝ่ายบริหารของนายไบเดนคือพวกเขาจะเข้าหาจีนด้วยวิธีใด มันก็มีความเป็นไปได้ที่ความตึงเครียดจะคลายลง เนื่องจากว่าที่ประธานาธิบดีคนนี้กำลังพยายามที่จะกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ” เควิน โลน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่ง Fathom Consulting กล่าว
“อย่างไรก็ตาม มันก็ดูมีแนวโน้มเท่า ๆ กันที่ฝ่ายบริหารของไบเดนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการปลุกระดมพันธมิตรของสหรัฐฯเพื่อบังคับใช้ข้อจำกัดในการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับจีน บางทีอาจส่งผลให้ความสำพันธ์ทางการค้าจีน-สหรัฐฯย่ำแย่ลงกว่าเก่าก็เป็นได้”

อ้างอิง

รอยเตอร์

Reporting by Shrutee Sarkar; Additional reporting by Manjul Paul; Polling by Nagamani Lingappa; Editing by Ross Finley and Nick Zieminski

ความเห็นผู้ชมทั่วไป